รูปสองอย่าง02

ประเภทที่ ๒ ปสาทรูป

ปสาทรูป คือ รูปที่เป็นความใสอันเกิดจากกรรม มีความสามารถในการรับ อารมณ์ได้ เรียกว่า ปสาทรูป ซึ่งมีอยู่ ๕ รูป คือ

๑. จักขุปสาทรูป ได้แก่ ปสาทตา

๒. โสตปสาทรูป ได้แก่ ปสาทหู

๓. ฆานปสาทรูป ได้แก่ ปสาทจมูก

๔. ชิวหาปสาทรูป ได้แก่ ปสาทลิ้น

๕. กายปสาทรูป ได้แก่ ปสาทกาย

ปสาท รูปทั้ง ๕ นี้ มีสภาพเป็นความใส เกิดจากกรรมโดยสมุฏฐานเดียว สามารถรับอารมณ์ได้ และยังผลให้สำเร็จกิจเป็นกุสลหรืออกุสลได้ ดังรายละเอียด ต่อไปนี้

๕. จักขุปสาทรูป

จักขุปสาท คือ ดวงตาของมนุษย์และสัตว์ทั้งหลายนั่นเอง เรียกว่า มังสจักขุ ซึ่งแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน ได้แก่

๑. สสมฺภารจกฺขุ คือ ส่วนต่าง ๆ ที่ประชุมกันอยู่ทั้งหมดเรียกว่า “ดวงตา” ซึ่งมีทั้งตาขาวและตาดำ มีก้อนเนื้อเป็นฐานรองรับปสาทจักขุไว้

๒. ปสาทจักขุ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “จักขุปสาท” คือ ความใสของมหา ภูตรูปอันเกิดจากกรรม ที่ตั้งอยู่บนกลางตาดำ

ดวง ตาทั้งหมดไม่ชื่อว่า จักขุปสาท ที่เรียกว่าจักขุปสาทนั้นก็คือ ธรรมชาติ ที่เป็นรูปชนิดหนึ่ง เกิดจากกรรม มีความใสดุจเงากระจก เป็นเครื่องรับรูปารมณ์ ตั้งอยู่ระหว่างตาดำมีหลักฐานแสดงไว้ชัดว่า เป็นเยื่อบางๆ ซับซ้อนกันอยู่ถึง ๗ ชั้น ประดุจปุยนุ่นที่ชุ่มด้วยน้ำมันงาชุ่มอยู่ทั้ง ๗ ชั้น โตประมาณเท่าศีรษะของเหา มี หน้าที่ให้สำเร็จกิจ ๒ อย่าง คือ

(๑) เป็นที่อาศัยเกิดของจักขุวิญญาณจิต ๒

(๒) เป็นทวาร คือ ทางแห่งการรับรู้อารมณ์ของจักขุทวารวิถีจิตในปัญจ ทวารวิถี

จักขุปสาทรูป มีลักขณาทิจตุกะ ดังนี้

รูปาภิฆาตารหภูตปฺปสาท ลกฺขณํ มีความใสของมหาภูตรูปที่กระทบ รูปารมณ์ เป็นลักษณะ

รูเปสุ อาวิญฺฉน รสํ มีการชักดึงมาซึ่งรูปารมณ์ เป็นกิจ

จกฺขุวิญฺญาณสฺส อาธารภาว ปจฺจุปฏฺฐานํ มีการรองรับซึ่งจักขุวิญญาณ เป็นผล

ทฏฺฐกามตานิทานกมฺมชภูต ปทฏฺฐานํ มีมหาภูตรูปอันเกิดจาก กรรม(รูปตัณหา) มีความใคร่ที่จะเห็นรูปารมณ์ เป็นเหตุใกล้

อนึ่ง คำว่า จักขุ ยังจำแนกเป็น ๒ ประการคือ ปัญญาจักขุ และ มังสจักขุ

ปัญญาจักขุ เป็นการรู้ด้วยปัญญา เป็นการรู้ทางใจ ไม่ใช่เห็นด้วยนัยน์ตา มีอยู่ ๕ ชนิด คือ

(๑) พุทฺธจกฺขุ เป็นจักขุญาณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้แก่

ญาณที่รู้ในอัชฌาสัยของสัตว์โลก เรียกว่า อาสยานุสยญาณ

ญาณ ที่สามารถรู้อินทรียของสัตว์ทั้งหลายว่ายิ่ง หรือหย่อนเพียงใด เรียกว่า อินทริยปโรปริยัตติญาณ ญาณดังกล่าวแล้วองค์ธรรมได้แก่ มหากิริยาญาณสัมปยุตต จิต ๔

(๒) สมนฺตจกฺขุ เป็นจักขุญาณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ สัพพัญญุตญาณ ญาณที่สามารถรอบรู้สิ้นปวงสังขตธรรมและอสังขตธรรม องค์ ธรรมได้แก่ มหากิริยาญาณสัมปยุตตจิตดวงที่ ๑

(๓) ญาณจักขุ คือ อรหัตตมัคคญาณ ญาณของพระอรหันต์ องค์ธรรมได้แก่ ปัญญาเจตสิก ที่ในอรหัตตมัคคจิต

(๔) ธมฺมจกฺขุ คือ ญาณของพระอริยทั้ง ๓ มีพระโสดาบัน พระสกทาคามี และพระอนาคามี องค์ธรรมได้แก่ ปัญญาเจตสิก ที่ในมัคคจิตเบื้องต่ำ ๓

(๕) ทิพฺพจกฺขุ คือ ญาณที่รู้ด้วยตาทิพย์ คือ อภิญญา องค์ธรรมได้แก่ อภิญญาจิต ๒

(๖) ส่วน มังสจักขุ นั้นคือ การเห็นด้วยนัยน์ตาเนื้อ ไม่ใช่รู้ด้วยปัญญา ได้แก่ จักขุของมนุษย์ และสัตว์ทั้งหลาย องค์ธรรมได้แก่ จักขุปสาท

ปัญญาจักขุ ๕ มังสจักขุ ๑ รวมเป็น ๖ จึงเรียกกันสั้น ๆ ว่า จักขุ ๖ เมื่อเอ่ยว่า จักขุ ๖ ก็หมายถึง ปัญญาจักขุ ๕ มังสจักขุ ๑ นี่แหละ

๖. โสตปสาทรูป

โสตปสาทรูป หมายถึงประสาทหู ที่อยู่ในช่องหู มีสัณฐานเป็นวง ๆ คล้าย วงแหวน และมีขนอันละเอียดอ่อนสีแดงปรากฏอยู่โดยรอบ เป็นรูปธรรมที่มีความ สามารถในการรับสัททารมณ์ เป็นวัตถุอันเป็นที่ตั้งแห่งโสตวิญญาณ และเป็นทวาร อันเป็นทางให้เกิดโสตทวารวิถีจิต

โสตะ คือ หูของมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย มี ๒ อย่าง คือ

๑. สสมฺภารโสต ได้แก่ หูทั้งหมด ซึ่งประกอบด้วยสสัมภารธาตุ อันเป็นที่ ตั้งที่อาศัยเกิดของโสตปสาท

๒. ปสาทโสต ได้แก่ โสตปสาท ซึ่งตั้งอยู่กลางหู มีสัณฐานคล้ายวงแหวน มีขนละเอียดอ่อนล้อมอยู่โดยรอบ

ฉะนั้น หูทั้งหมดที่มองเห็นเป็นรูปหูนั้น ไม่ชื่อว่า โสตปสาท ที่ชื่อว่าโสตปสาท นั้นก็คือ ธรรมชาติชนิดหนึ่งที่เกิดจากกรรม มีความสามารถรับเสียงต่าง ๆ ได้ ตั้งอยู่ภายในช่องหู มีสัณฐานเหมือนวงแหวน มีขนสีแดงเส้นละเอียดเกิดขึ้นโดยรอบ โสตปสาทแผ่อยู่ทั่วบริเวณนั้น มีหน้าที่สำเร็จกิจ ๒ อย่าง คือ

ก. เป็นที่อาศัยเกิด ของโสตวิญญาณ ๒

ข. เป็นทวาร คือ ทางแห่งการรับรู้อารมณ์ของโสตทวารวิถี

โสตปสาทรูป มีลักขณาทิจตุกะ ดังนี้

สทฺทาภิฆาตารหภูตปฺปสาท ลกฺขณํ มีความใสของมหาภูตรูป ที่กระทบ สัททารมณ์ เป็นลักษณะ

สทฺเทสุ อาวิญฺฉน รสํ มีการแสวงหาสัททารมณ์ เป็นกิจ

โสตวิญฺญาณสฺส อาธารภาว ปจฺจุปฏฺฐานํ มีการทรงอยู่ของโสตวิญญาณ เป็นผล

โสตุกามตานิทานกมฺมชภูต ปทฏฺฐานํ มีมหาภูตรูปอันเกิดจากกรรม (สัททตัณหา) เป็นเหตุใกล้

อนึ่งคำว่า โสต นี้ยังแบ่งเป็น ๓ ประการอันเรียกกันสั้น ๆ ว่า โสต ๓ คือ

(๑) ทิพฺพโสต ญาณที่รู้ด้วยหูทิพย์ คือ อภิญญา องค์ธรรมได้แก่ อภิญญาจิต ๒

(๒) ตณฺหาโสต กระแสของตัณหา หมายความว่า ตัณหานั้นเป็นกระแสร์ พาให้ไหลไปในอารมณ์ทั้ง ๖ และไหลไปสู่ กามภพ รูปภพ อรูปภพ

(๓) ปสาทโสต ได้แก่โสตปสาทรูป

๗. ฆานปสาทรูป

ฆานปสาทรูป หมายถึง ประสาทจมูก ที่อยู่ในช่องจมูก อันมีสัณฐานเหมือน กีบแพะ เป็นรูปธรรมที่มีความสามารถในการรับคันธารมณ์ เป็นวัตถุอันเป็นที่ตั้ง แห่งฆานวิญญาณ และเป็นทวารอันเป็นทางให้เกิดฆานทวารวิถีจิต

ฆานปสาทรูป มีลักขณาทิจตุกะ ดังนี้

คนฺธาภิฆาตารหภูตปฺปสาท ลกฺขณํ มีความใสของมหาภูตรูป(ที่เกิดจาก กรรม) ที่กระทบคันธารมณ์ เป็นลักษณะ

คนฺเธสุ อาวิญฺฉน รสํ มีการแสวงหาคันธารมณ์เป็นกิจ

ฆานวิญฺญาณสฺส อาธารภาว ปจฺจุปฏฺฐานํ มีการทรงอยู่ของฆานวิญญาณ เป็นผล

ฆายิตุกามตานิทานกมฺมชภูต ปทฏฺฐานํ มีมหาภูตรูปอันเกิดจากกรรม (คันธตัณหา) เป็นเหตุใกล้

๘. ชิวหาปสาทรูป

ชิวหาปสาทรูป หมายถึง ประสาทลิ้น ที่ตั้งอยู่ท่ามกลางลิ้นอันมีสัณฐาน เหมือนปลายกลีบดอกบัว เรียงรายซ้อนกันเป็นชั้น ๆ เป็นรูปธรรมที่มีความสามารถ ในการรับรสารมณ์ เป็นวัตถุอันเป็นที่ตั้งแห่งชิวหาวิญญาณ และเป็นทวารอันเป็น ทางให้เกิดชิวหาทวารวิถีจิต

ชิวหาปสาท คือ ประสาทลิ้นของมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย แบ่งออกเป็น ๒ ส่วน คือ

๑. สสมฺภารชิวหา ได้แก่ ลิ้น ซึ่งประกอบด้วยสสัมภารธาตุต่าง ๆ อัน เป็นที่เกิดของชิวหาปสาท คือ ลิ้นทั้งหมดที่เราเห็นนั่นเอง

๒. ปสาทชิวหา ได้แก่ ชิวหาปสาท ซึ่งมีสัณฐานคล้ายกลีบดอกบัว ตั้งอยู่ โดยรอบบริเวณปลายลิ้น

สำหรับ ชิวหาปสาทในที่นี้ มุ่งหมายเอาชิวหาปสาทที่เป็นสภาพของรูปปรมัตถ ที่เรียกว่าชิวหาปสาท ก็คือ ธรรมชาติที่เป็นรูปชนิดหนึ่งซึ่งเกิดจากกรรม มีความใส บริสุทธิ์ เป็นเครื่องรับรสต่าง ๆ ตั้งอยู่โดยรอบบริเวณลิ้น มีสัณฐานคล้ายกลีบบัว มีหน้าที่ให้สำเร็จกิจ ๒ อย่าง คือ

ก. เป็นที่อาศัยเกิดของชิวหาวิญญาณจิต

ข. เป็นทวาร คือทางแห่งการรับรู้อารมณ์ของชิวหาทวารจิตในปัญจทวารวิถี

ชิวหาปสาทรูป มีลักขณาทิจตุกะ ดังนี้

รสาภิฆาตารหภูตปฺปสาท ลกฺขณํ มีความใสของมหาภูตรูปที่กระทบ รสารมณ์ เป็นลักษณะ

รเสสุ อาวิญฺฉน รสํ มีการแสวงหารสารมณ์ เป็นกิจ

ชิวหาวิญฺญาณสฺส อาธารภาว ปจฺจุปฏฺฐานํ มีการทรงอยู่ของชิวหาวิญญาณ เป็นผล

สายิตุกามตานิทานกมฺมชภูต ปทฏฺฐานํ มีมหาภูตรูปอันเกิดจากกรรม (รสตัณหา) เป็นเหตุใกล้

ชิวหาเป็นรูปที่มีสภาพคล้ายกับเรียกรส ซึ่งเป็นเหตุให้อายุยืน รูปนั้นชื่อว่า ชิวหา ทั้งนี้เพราะธรรมชาติของชิวหาปสาทนี้ ย่อมน้อมอยู่ในรสต่าง ๆ ซึ่งเป็นที่ พอใจของชิวหาวิญญาณให้มาสู่ตน รวมความแล้วก็คือ ชิวหาปสาทเป็นรูปที่เกิด จากกรรม มีความใสบริสุทธิ์เป็นเครื่องรับรสต่าง ๆ นั่นเอง

๙. กายปสาทรูป

กายปสาทรูป หมายถึง ประสาทกาย มีสัณฐานคล้ายสำลีแผ่นบาง ๆ ชุบ น้ำมันจนชุ่ม ซ้อนกันหลาย ๆ ชั้น ตั้งอยู่ทั่วไปในสรรพางค์กาย เว้นที่ปลายผม ปลายขน ที่เล็บ ที่ฟัน ที่กระดูก ที่หนังหนาด้าน ซึ่งประสาทตั้งอยู่ไม่ได้

กายปสาทรูป เป็นรูปธรรมที่มีความสามารถในการรับโผฏฐัพพารมณ์ คือ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง เป็นวัตถุอันเป็นที่ตั้งแห่งกายวิญญาณ และเป็นทวาร อันเป็นทางให้เกิดกายทวารวิถีจิต

กายปสาทรูป มีลักขณาทิจตุกะ ดังนี้

โผฏฺฐพฺพาภิฆาตารหภูตปฺปสาท ลกฺขณํ มีความใสของมหาภูตรูปที่ กระทบโผฏฐัพพารมณ์ เป็นลักษณะ

โผฏฺฐพฺเพสุ อาวิญฺฉน รสํ มีการแสวงหาโผฏฐัพพารมณ์ เป็นกิจ

กายวิญฺญาณสฺส อาธารภาว ปจฺจุปฏฺฐานํ มีการทรงอยู่ของกายวิญญาณ เป็นผล

ผุสิตกามตานิทานกมฺมชภูต ปทฏฺฐานํ มีมหาภูตรูปอันเกิดจากกรรม (โผฏฐัพพตัณหา) เป็นเหตุใกล้

กายปสาท คือประสาทกายของมนุษย์และสัตว์ทั้งหลายแบ่งออกเป็น ๒ ส่วนคือ

๑. สสมฺภารกาย ได้แก่ กายที่ประกอบด้วยสสัมภารธาตุต่าง ๆ อันเป็นที่เกิด ของกายปสาท หรือ เรียกว่ากายทั้งหมดที่เราเห็นนั่นเอง รูปที่ประชุมรวมส่วน ต่าง ๆ มี ผม ขน เล็บ ฟัน เป็นต้น ที่น่าเกลียด และเป็นที่ประชุมแห่งอกุสลธรรม รูปนั้นชื่อว่า “กาย” ได้แก่ ร่างกายทั้งหมด

๒. ปสาทกาย ได้แก่ กายปสาทอันตั้งอยู่ทั่วสรรพางค์กาย ยกเว้นปลายผม ปลายขน ปลายเล็บ ปลายฟัน และหนังที่หนา ๆ

สำหรับ กายในที่นี้ หมายถึง ปสาทกายอย่างเดียว เพราะเป็นสภาพของ รูปปรมัตถ ที่เรียกว่ากายปสาทนั้นคือ ธรรมชาติที่เป็นรูปชนิดหนึ่งซึ่งเกิดจากกรรม มีความใสบริสุทธิ์เป็นเครื่องรับกระทบความเย็น ความร้อน ความอ่อน ความแข็ง และ ความเคร่งตึง ตั้งอยู่ทั่วสรรพางค์กาย มีหน้าที่ให้สำเร็จกิจ ๒ อย่าง คือ

ก. เป็นที่อาศัยเกิดของกายวิญญาณจิต

ข. เป็นทวาร คือ ทางแห่งการรับรู้อารมณ์ของกายทวาร ในปัญจทวารวิถี

อนึ่ง คำว่า กาย นี้ยังจำแนกเป็น ๔ ประการ เรียกกันสั้น ๆ ว่า กาย ๔ คือ

(๑) ปสาทกาย ได้แก่ กายปสาทรูป

(๒) รูปกาย ได้แก่ รูป ๒๗ (เว้นกายปสาทรูป)

(๓) นามกาย ได้แก่ จิต เจตสิก

(๔) บัญญัตติกาย ได้แก่ สมูหบัญญัติ มี หัตถิกาย (กองช้าง) อัสสกาย (กองม้า) เป็นต้น